บาร์โค้ด (Barcode) คือ รหัสแท่ง ประกอบด้วยเส้นมืด (มักจะเป็นสีดำ) และเส้นสว่าง (มักเป็นสีขาว) วางเรียงกันเป็นแนวดิ่ง ใช้แทนตัวเลขและตัวอักษร ถูกนำมาใช้เพื่ออำนวยความสะดวกให้คอมพิวเตอร์รับเอาข้อมูลเข้าไปประมวลผลได้ง่าย รวดเร็ว ถูกต้อง และแม่นยำขึ้น โดยใช้เครื่องอ่านบาร์โค้ด (Barcode Scanner) เป็นตัวส่งผ่านข้อมูลเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ โดยการแยกความกว้างระหว่างพื้นที่มืดและพื้นที่สว่างออกมาเป็นรหัสตัวเลข เมื่อแสงจากเครื่องอ่านบาร์โค้ดมากระทบบาร์โค้ดในลักษณะวางพาดขวาง แสงสะท้อนที่ออกจากเส้นมืดจะน้อยกว่าแสงที่สะท้อนออกจากพื้นที่สว่าง เครื่องอ่านบาร์โค้ดจะแปลงแสงสะท้อนนี้เป็นรหัสส่งไปยังเครื่องคอมพิวเตอร์ บาร์โค้ดจึงช่วยลดการผิดพลาดในการคีย์ข้อมูลได้เป็นอย่างมาก นอกจากนั้นบาร์โค้ดยังช่วยประหยัดเวลา ลดค่าใช้จ่าย และใช้ทรัพยากรบุคคลน้อยลงอีกด้วย
บาร์โค้ด 1 มิติ (1D) มีลักษณะเป็นเส้นขาวดำที่มีความหนาบางสลับกัน เหมาะกับการใช้งานทั่วไปที่ไม่ต้องการใช้พื้นที่ในการเก็บข้อมูลเยอะ เช่น รหัสสินค้า ชื่อผลิตภัณฑ์ เลขประจำตัว เลขสมาชิก Serial no. และ Lot no. ของสินค้าเป็นต้น
EAN 13 (European Article Numbering) เป็นแบบบาร์โค้ดที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดในโลก และเป็นบาร์โค้ดมาตรฐานสากลที่เราต้องไปขึ้นทะเบียนกับ GS1 เป็นตัวเลขชุด 13 หลัก นิยมใช้กับสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไป เช่น อาหาร เครื่องดื่ม
บาร์โค้ด EAN 13 จะมีลักษณะเฉพาะของชุดตัวเลขจำนวน 13 หลัก ซึ่งมีความหมายดังนี้
และตัวเลขในหลักสุดท้าย จะเป็นตัวเลขตรวจสอบความถูกต้องของบาร์โค้ด (check digit)
Code 39 และ Code 128 เป็นบาร์โค้ดที่ไม่ต้องขึ้นทะเบียน ใช้กันอย่างแพร่หลายทั้งในงานอุตสาหกรรม หน่วยงานของรัฐ และองค์กรเอกชน สามารถนำมาใช้ได้ฟรีกับสินค้าทั่วไป บาร์โค้ดแบบนี้เป็นรหัสที่ไม่กำหนดจำนวนหลัก ขึ้นอยู่กับความสามารถของเครื่องอ่านบาร์โค้ด และไม่จำเป็นต้องมีตัวเลขในการตรวจสอบความถูกต้องของบาร์โค้ด สามารถแสดงได้ทั้งตัวเลขและตัวอักษร รวมถึงอักขระพิเศษ (ASCII)
Code 39 มีการเพิ่มเครื่องหมาย “*” ที่หลักแรกและหลักสุดท้ายเพื่อบอกตำแหน่งเริ่มต้นและตำแหน่งสิ้นสุด จำกัดตัวอักษรเฉพาะ A-Z, 0-9, +, -, %, $
Code 128 บาร์โค้ดชนิดนี้ถูกนำมาใช้มากกว่า Code 39 เพราะสามารถใช้ตัวอักษรและอักขระพิเศษได้ทุกตัวบนคีย์บอร์ด
เป็นเทคโนโลยีที่พัฒนาเพิ่มเติมจากบาร์โค้ด 1 มิติ โดยออกแบบให้บรรจุข้อมูลได้ทั้งในแนวตั้งและแนวนอน ทำให้สามารถบรรจุข้อมูลได้มากถึงประมาณ 4,000 ตัวอักษร หรือประมาณ 200 เท่าของบาร์โค้ด 1 มิติ ในพื้นที่เท่ากันหรือเล็กกว่า สามารถบรรจุข้อมูลภาษาอื่นนอกจากภาษาอังกฤษได้ เช่น ภาษาไทย ญี่ปุ่น จีน หรือ เกาหลี เป็นต้น บาร์โค้ด 2 มิติ สามารถถูกถอดรหัสได้แม้ว่าบาร์โค้ดบางส่วนเกิดการเสียหาย
PDF417 (Portable Data File) ลักษณะบาร์โค้ดเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า เครื่องอ่านบาร์โค้ดจะสามารถอ่านได้ในทิศทางเดียว เช่น อ่านจากทางซ้ายไปขวา หรือ ขวาไปซ้าย และอ่านจากบนลงล่าง หรือ ล่างขึ้นบน บาร์โค้ดชนิดนี้เหมาะสำหรับงานที่ต้องการความละเอียดและถูกต้องเป็นพิเศษ
Data Matrix ลักษณะบาร์โค้ดมีทั้งรูปสี่เหลี่ยมจตุรัสและสี่เหลี่ยมผืนผ้า ส่วนใหญ่ใช้ในงานที่มีพื้นที่จำกัดและต้องการบาร์โค้ดขนาดเล็ก บาร์โค้ดชนิดนี้เหมาะสำหรับอุตสาหกรรมอิเล็คโทรนิค อาหาร อะหลั่ยรถยนต์ และเครื่องจักร เป็นต้น
QR Code (Quick Response) ลักษณะบาร์โค้ดเป็นรูปสี่เหลี่ยม บาร์โค้ดชนิดนี้เหมาะสำหรับเว็บไซต์ จ่ายบิล ชำระเงิน เพิ่มเพื่อนใน LINE ตั๋วเข้างานต่างๆ Bording Pass ตั๋วเครื่องบิน เป็นต้น