บาร์โค้ดคืออะไร (What is Barcode ?)

           บาร์โค้ด (Barcode) คือ รหัสแท่ง ประกอบด้วยเส้นมืด (มักจะเป็นสีดำ) และเส้นสว่าง (มักเป็นสีขาว) วางเรียงกันเป็นแนวดิ่ง ใช้แทนตัวเลขและตัวอักษร ถูกนำมาใช้เพื่ออำนวยความสะดวกให้คอมพิวเตอร์รับเอาข้อมูลเข้าไปประมวลผลได้ง่าย รวดเร็ว ถูกต้อง และแม่นยำขึ้น โดยใช้เครื่องอ่านบาร์โค้ด (Barcode Scanner) เป็นตัวส่งผ่านข้อมูลเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ โดยการแยกความกว้างระหว่างพื้นที่มืดและพื้นที่สว่างออกมาเป็นรหัสตัวเลข เมื่อแสงจากเครื่องอ่านบาร์โค้ดมากระทบบาร์โค้ดในลักษณะวางพาดขวาง แสงสะท้อนที่ออกจากเส้นมืดจะน้อยกว่าแสงที่สะท้อนออกจากพื้นที่สว่าง เครื่องอ่านบาร์โค้ดจะแปลงแสงสะท้อนนี้เป็นรหัสส่งไปยังเครื่องคอมพิวเตอร์ บาร์โค้ดจึงช่วยลดการผิดพลาดในการคีย์ข้อมูลได้เป็นอย่างมาก นอกจากนั้นบาร์โค้ดยังช่วยประหยัดเวลา ลดค่าใช้จ่าย และใช้ทรัพยากรบุคคลน้อยลงอีกด้วย

 

บาร์โค้ด มี 2 ประเภท คือ บาร์โค้ด 1 มิติ (1D) และ บาร์โค้ด 2 มิติ (2D)

บาร์โค้ด 1 มิติ

มีลักษณะเป็นเส้นขาวดำที่มีความหนาบางสลับกัน เหมาะกับการใช้งานทั่วไปที่ไม่ต้องการใช้พื้นที่ในการเก็บข้อมูลเยอะ เช่น รหัสสินค้า ชื่อผลิตภัณฑ์ เลขประจำตัว เลขสมาชิก Serial no. และ Lot no. ของสินค้าเป็นต้น               

บาร์โค้ด 1 มิติ ที่นิยมใช้ในประเทศไทยมีอยู่ 3 ตระกูล คือ EAN 13, Code 39, Code 128

          EAN 13 (European Article Numbering) เป็นแบบบาร์โค้ดที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดในโลก และเป็นบาร์โค้ดมาตรฐานสากลที่เราต้องไปขึ้นทะเบียนกับ GS1 เป็นตัวเลขชุด 13 หลัก นิยมใช้กับสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไป เช่น อาหาร เครื่องดื่ม

บาร์โค้ด EAN 13 จะมีลักษณะเฉพาะของชุดตัวเลขจำนวน 13 หลัก ซึ่งมีความหมายดังนี้

> 3 หลักแรก คือ รหัสของประเทศผู้ผลิต

> 4 หลักถัดมา คือ รหัสโรงงานที่ผลิต
> 5 หลักถัดมา คือ รหัสของสินค้า

และตัวเลขในหลักสุดท้าย จะเป็นตัวเลขตรวจสอบความถูกต้องของบาร์โค้ด (check digit)

Code 39 และ Code 128 เป็นบาร์โค้ดที่ไม่ต้องขึ้นทะเบียน ใช้กันอย่างแพร่หลายทั้งในงานอุตสาหกรรม หน่วยงานของรัฐ และองค์กรเอกชน สามารถนำมาใช้ได้ฟรีกับสินค้าทั่วไป บาร์โค้ดแบบนี้เป็นรหัสที่ไม่กำหนดจำนวนหลัก ขึ้นอยู่กับความสามารถของเครื่องอ่านบาร์โค้ด และไม่จำเป็นต้องมีตัวเลขในการตรวจสอบความถูกต้องของบาร์โค้ด สามารถแสดงได้ทั้งตัวเลขและตัวอักษร รวมถึงอักขระพิเศษ (ASCII)

           Code 39 มีการเพิ่มเครื่องหมาย “*” ที่หลักแรกและหลักสุดท้ายเพื่อบอกตำแหน่งเริ่มต้นและตำแหน่งสิ้นสุด จำกัดตัวอักษรเฉพาะ A-Z, 0-9, +, -, %, $

           Code 128 บาร์โค้ดชนิดนี้ถูกนำมาใช้มากกว่า Code 39 เพราะสามารถใช้ตัวอักษรและอักขระพิเศษได้ทุกตัวบนคีย์บอร์ด

 

บาร์โค้ด 2 มิติ

เป็นเทคโนโลยีที่พัฒนาเพิ่มเติมจากบาร์โค้ด 1 มิติ โดยออกแบบให้บรรจุข้อมูลได้ทั้งในแนวตั้งและแนวนอน ทำให้สามารถบรรจุข้อมูลได้มากถึงประมาณ 4,000 ตัวอักษร หรือประมาณ 200 เท่าของบาร์โค้ด 1 มิติ ในพื้นที่เท่ากันหรือเล็กกว่า สามารถบรรจุข้อมูลภาษาอื่นนอกจากภาษาอังกฤษได้ เช่น ภาษาไทย ญี่ปุ่น จีน หรือ เกาหลี เป็นต้น บาร์โค้ด 2 มิติ สามารถถูกถอดรหัสได้แม้ว่าบาร์โค้ดบางส่วนเกิดการเสียหาย

บาร์โค้ด 2 มิติ ที่นิยมใช้ทั่วไปมี 3 ตระกูล คือ QR Code, Data Matrix และ PDF417

           PDF417 (Portable Data File) ลักษณะบาร์โค้ดเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า เครื่องอ่านบาร์โค้ดจะสามารถอ่านได้ในทิศทางเดียว เช่น อ่านจากทางซ้ายไปขวา หรือ ขวาไปซ้าย และอ่านจากบนลงล่าง หรือ ล่างขึ้นบน บาร์โค้ดชนิดนี้เหมาะสำหรับงานที่ต้องการความละเอียดและถูกต้องเป็นพิเศษ

          Data Matrix ลักษณะบาร์โค้ดมีทั้งรูปสี่เหลี่ยมจตุรัสและสี่เหลี่ยมผืนผ้า ส่วนใหญ่ใช้ในงานที่มีพื้นที่จำกัดและต้องการบาร์โค้ดขนาดเล็ก บาร์โค้ดชนิดนี้เหมาะสำหรับอุตสาหกรรมอิเล็คโทรนิค อาหาร อะหลั่ยรถยนต์ และเครื่องจักร เป็นต้น

QR Code (Quick Response) ลักษณะบาร์โค้ดเป็นรูปสี่เหลี่ยม บาร์โค้ดชนิดนี้เหมาะสำหรับเว็บไซต์ จ่ายบิล ชำระเงิน เพิ่มเพื่อนใน LINE ตั๋วเข้างานต่างๆ Bording Pass ตั๋วเครื่องบิน เป็นต้น

 

Scroll to top